ผู้บริหารและคณาจารย์ มรท. ร่วมการแข่งขัน priME Sim – Champions-CUP และร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Educational Digital Tools for Participatory Approach

ระหว่างวันที่ 10 - 15 มีนาคม 2566 ผศ.พรเทพ คัชมาตย์ ผู้ช่วยอธิการบดีและผู้อำนวยการศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เป็นผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี พร้อมด้วย อ.ดร.ไอลดา ศราทธทัต อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ คณะวิทยาการจัดการ และ ผศ.ดร.ภราดร งามดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในนามของคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เข้าร่วมโครงการแข่งขัน priME Sim – Champions-CUP และร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Educational Digital Tools for Participatory Approach

โดยเมื่อวันที่ 10 และ 11 มีนาคม 2566 ณ Bundesinstitut für Gehörlosenbildung กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ร่วมกับคณะทำงานมหาวิทยาลัยเครือข่ายจากประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และประเทศเวียดนาม ได้แก่ Ho Chi Minh Open University และ Thai Nguyen University ได้เข้าร่วมโครงการแข่งขัน priME Sim – Champions-CUP โดยการแข่งขันนี้เป็นหนึ่งในโครงการของโปรแกรม INCREASE ซึ่งสนับสนุนโดย Erasmus+ Capacity Building โดยโปรแกรม priME Sim นั้น เป็นโปรแกรมการเรียนรู้ด้านการจัดการธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการระดับนานาชาติ และมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น  University of Siegen, Fulda University of Applied Sciences, University of Cologne, HTWG Konstanz University of Applied Sciences, Stuttgart University เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีจับมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในการลงแข่งขัน โดยผลการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่ม A ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันยังได้เข้าร่วมการสัมมนา พบปะพูดคุยในประเด็นด้านการศึกษา ด้านการพัฒนาแผนธุรกิจในชุมชน การพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) SME และ Start-up ร่วมกับตัวแทนจากมหาวิทยาลัย Kozminski University ประเทศโปแลนด์ และบริษัท HJH Consulting อีกด้วย โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีมีแผนในการนำ Educational Digital Tools จากโครงการ INCREASE มาใช้ในการเรียนการสอนในรายวิชากลุ่มศึกษาทั่วไปเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการมีส่วนร่วม การเป็นผู้นำ และการบริหารธุรกิจในอนาคต 

จากนั้นในวันที่ 13 - 15 มีนาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัย Kozminski University ประเทศโปแลนด์ คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Educational Digital Tools for Participatory Approach ซึ่งในที่ประชุมได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและครูผู้สอน รวมถึงได้ร่วมเรียนรู้การใช้งานโปรแกรม Riva SysTeamsChange ซึ่งเป็นโปรแกรมการเรียนรู้ด้านการปรับเปลี่ยนการบริหารงานขององค์กรให้กลายเป็นองค์กรที่มีการทำงานแบบบูรณาการ นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังการใช้โปรแกรม Smart Leo และ Hotel Star กับนักศึกษา ซึ่งภายหลังจากการใช้โปรแกรมดังกล่าวกับนักศึกษาแล้ว นักศึกษามีระดับของการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเพิ่มมากขึ้น และนักศึกษาได้รับทักษะการทำงานในองค์กรที่ซับซ้อน รวมไปถึงการฝึกทักษะการนำเสนอแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยภายหลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการ INCREASE โดยมีมติการประชุมในวาระสำคัญ ได้แก่ 1. การขยายเวลาการดำเนินโครงการไปจนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2567 / 2. การขยายการใช้โปรแกรม Digital Tool ไปยังนักศึกษาและผู้ที่สนใจภายนอก / 3. การกำหนดจัด International Conference ด้าน Digital Tool ในช่วงเดือนมกราคม ปี 2567

กิจกรรมอื่นๆ