ระหว่างวันที่ 6 - 8 กรกฎาคม 2566 ณ ลานกิจกรรมชั้น 2 The Hall ศูนย์การค้าอยุธยาชิตี้พาร์ค จ.พระนครศรีอยุธยา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ร่วมกับ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ ร่วมจัดกิจกรรมในการประชุมวิชาการเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศ ระดับชาติ ครั้งที่ 3 ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 13 และการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่องาน พหุวัฒนธรรมไร้พรมแดน : ส่งเสริมสู่ระดับชาติ สร้างสรรค์สู่ระดับโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และมหาวิทยาลัยในเครือข่ายเป็นเจ้าภาพร่วม โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.คณิต เขียววิชัย นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิด พร้อมกันนี้ คุณนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ
สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีได้นำไปจัดแสดงภายในงาน ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการผ้าทอท้องถิ่น และการสาธิตการทำสมุดทำมือจากผ้าทอท้องถิ่น ในกิจกรรมลานวัฒนธรรม "ของดีบ้านฉัน" โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม และสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ, การนำนักศึกษาร่วมการแสดงลิเกประยุกต์ คณะขวัญใจเทพสตรี และการนำเสนอผลงานทางวิชาการและผลงานวิจัย โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, การนำนักศึกษาร่วมการแสดงชุดนานาชนคนลพบุรี ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้แสดง โดยยึดจากการแสดงพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ลพบุรี โดยคณะครุศาสตร์
นอกจากนี้ ยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ผศ.ดร.กันยา บาร์นท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้มอบหมายให้ ผศ.ศศิวิมล สุทธิสาร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยมีสาระสำคัญตามบันทึกลงนามเพื่อส่งเสริม สนับสนุน เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ ตลอดจนบุคลากรหรือทรัพยากรด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง/สนับสนุนการจัดการศึกษาและหลักสูตรให้มีคุณภาพ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ/เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย ทั้งทางด้านงบประมาณ บุคลากร องค์ความรู้ และทรัพยากรด้านอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ จากงานวิจัย/เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการบริการวิชาการแก่สังคมและชุมชน ให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการในระดับประเทศและพัฒนาสู่ระดับสากล/เพื่อส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนการจัดกิจกรรมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ ตลอดจนสร้างมาตรฐานทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้เป็นเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย/เพื่อส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายในการประกันคุณภาพการศึกษาและสร้างมาตรฐานคุณภาพทางการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและในระดับนานาชาติ/เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคมและชุมชน การทํานุบํารุงศิลปะและวัฒนธรรม การประกันคุณภาพการศึกษา การพัฒนาบุคลากร อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและมีมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน/ตลอดจนเพื่อส่งเสริม และร่วมพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ด้วยกระบวนการทางความคิดที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ นําไปสู่การขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อสนับสนุนงบประมาณเกี่ยวกับการดําเนินการจัดประชุมวิชาการ เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยระดับนานาชาติในแต่ละครั้ง ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ สำหรับบันทึกลงนามความร่วมมือฉบับดังกล่าวมีระยะเวลาของสัญญา 1 ปี คือระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 - 7 กรกฎาคม 2567