มรภ.เทพสตรี ร่วมกิจกรรมนุ่งโจง ห่มสไบ แต่งชุดไทย สร้างวินัยกฎจราจร เนื่องในวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ประจำปี พ.ศ. 2567 พร้อมแจงนโยบายทางเดินเท้าในบริบทของ มรภ.เทพสตรี 

เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2567 ณ บริเวณทางม้าลายด้านข้างอาคารรัตนเทพสตรี อ.ดร.เนติ เฉลยวาเรศ นำผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักเรียนโรงเรียนสาธิตฯ และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ร่วมกิจกรรมนุ่งโจง ห่มสไบ แต่งชุดไทย สร้างวินัยกฎจราจร เนื่องในวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ประจำปี พ.ศ. 2567 ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดโดยจังหวัดลพบุรี โดยได้รับเกียรติจาก คุณปรัชญา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถชนคนข้ามทางม้าลายและใช้ทางเท้าสาธารณะ อีกทั้งยังเพื่อกระตุ้นเตือน สร้างความตระหนักให้มีจิตสำนึกรักความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ถนน ทุกเพศ ทุกวัย และผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ตลอดจนส่งเสริมและสร้างการรับรู้ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัย มีระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนนและทางเท้าสาธาระ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันทาสีฟุตบาท ทาสีทางม้าลายและโรยผงลูกแก้วเพื่อให้เกิดการสะท้อนแสงเป็นจุดสังเกตในเวลากลางคืน ทาสีฟุตบาท ทำความสะอาดทางเท้า โอกาสนี้จังหวัดลพบุรีได้มอบหมวกกันน็อคให้แก่นักเรียน นักศึกษา จำนวน 40 ใบ 

อ.ดร.เนติ เฉลยวาเรศ ผู้ช่วยอธิการบดี กล่าวถึงนโยบายทางเดินเท้าในบริบทของมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ว่าในช่วงเวลาที่ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ต่างก็ให้ความสำคัญต่อการเดินเท้าในมิติต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ ร้องเรียนในประเด็นด้านการออกแบบ หรือด้านการก่อสร้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดและการจัดลำดับความสำคัญระบบทางเท้าในมหาวิทยาลัยของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหาร ซึ่งนโยบาย หรือแนวทางการพัฒนานั้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยจัดการทางเท้า เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่นั้น ๆ สร้างการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และยั่งยืน อย่างไรก็ดี การออกนโยบายก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในหลาย ๆ กลไกที่สามารถเสริมสร้างการบูรณาการ และเพิ่มมิติการพัฒนาทางเท้า โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างทางเท้าสำหรับคนทุกคน ที่ไม่เพียงเดินสะดวก หรือเพิ่มความสะดวกในการใช้ทางเท้าของผู้ทุพพลภาพ และคนชรา แต่หมายถึงการสร้างทางเท้าที่ตอบสนองต่อการใช้งานทุกรูปแบบอย่างเท่าเทียม ทำให้ประสบการณ์การใช้ทางเท้าและการเดินทางของคนทุกวัย ทุกสภาวะ ทุกเพศนั้นสะดวก ปลอดภัย ให้ทางเท้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานการสัญจรสำหรับทุกคน ให้ทางเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่โอบรับความหลากหลายของการใช้งาน ความหลากหลายสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ

กิจกรรมอื่นๆ