ผู้บริหาร มรท. ร่วมการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ครั้งที่ 5/2566 และร่วมงานราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 7 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ระหว่างวันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผศ.ดร.กันยา บาร์นท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี พร้อมด้วยผู้บริหารและคณาจารย์ ร่วมการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ครั้งที่ 5/2566 และร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 7 "วิจัย นวัตกรรม พลิกโฉมการพัฒนาท้องถิ่น สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน" ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

โดยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ ห้องสร้อยสุวรรณา ชั้น 3 อาคาร 10 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผศ.ดร.กันยา บาร์นท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี พร้อมด้วย อ.ดร.สมชาย วัชรปัญญาวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและวิจัย และ ผศ.ดร.พรพจน์ จุลสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย เข้าร่วมการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ครั้งที่ 5/2566 โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้เกียรติเป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญที่ร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับ การพิจารณาสรรหาและแต่งตั้ง ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏคนใหม่

จากนั้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พันโท หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล เสด็จแทนพระองค์ เปิดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 7” ในการนี้ อ.ดร.สมชาย วัชรปัญญาวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและวิจัย และ ผศ.ดร.พรพจน์ จุลสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีร่วมในพิธีเปิด โดยมี ผศ.อรุณี เจริญทรัพย์ นำทีมบุคลากรสถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมจัดนิทรรศการเผยแพร่งานวิจัย โอกาสนี้ รศ.ดร.ดวงใจ บุญกุศล อาจารย์ในสังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เข้ารับโล่รางวัลนักวิจัยดีเด่นด้วย

การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 7 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำเสนอผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ที่สะท้อนภาพยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาที่มีคุณค่าต่อสังคม และสร้างความร่วมมือทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่สนใจ เพื่อนำไปสู่การพลิกโฉมการพัฒนาท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจ สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม ประเทศชาติ และนานาชาติ มีผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ นักศึกษา  รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน

กิจกรรมอื่นๆ